สร้างบ้านรับมือ ภัยธรรมชาติ

สร้างบ้านรับมือ ภัยธรรมชาติ

ภัยจากพายุที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จะมีวิธีเตรียมตัวป้องกันและรับมือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านของเราได้อย่างไร ดังนั้นก่อนที่จะออกแบบหรือก่อสร้างบ้านจึงควรคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ให้มากเพื่อให้บ้านของคุณคงทนแข็งแรงยาวนานตลอดอายุการใช้งาน

สำรวจพื้นดินที่ตั้ง

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือน้ำป่าไหลหลาก สภาพชั้นดินที่แข็งแรงจะช่วยยึดบ้านให้ปลอดภัย ควรเลี่ยงปลูกบ้านบนพื้นที่ที่เป็นหินกรวด ทรายหรือดินเหลว ควรเลือกพื้นที่ที่เป็นชั้นหินแข็งแรง หรือชั้นดินที่หนาแน่นลองสำรวจด้วยตาเปล่าก่อนขั้นแรก ถ้าจะให้แน่ใจควรให้วิศวกรเจาะสำรวจอีกครั้ง ควรหลีกเลี่ยงเนินหินและต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากการปลูกบ้านบนหรือภายใต้เนินหินมีโอกาสถล่มลงมาได้ รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่สามารถล้มลงมาทับบ้านเมื่อเกิดลมพายุ และอย่าลืมเว้นระยะให้ห่างจากรัศมีการล้มของต้นไม้

หลายวัสดุหลายรอยต่อ

ผนังของบ้านหรืออาคารไม่ควรประกอบด้วยวัสดุที่หลากหลายมากเกินไป เพราะจะทำให้มีรอยต่อมากมายกลายเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดของบ้าน มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียหายได้ก่อนส่วนอื่นๆ ควรเลือกใช้วัสดุทำผนังเพียงชนิดเดียวและต้องมีความยืดหยุ่นสูงด้วย

เพิ่มความยาวของเสาเข็ม

หากทราบว่าหน้าดินของพื้นที่ที่จะสร้างบ้านมีการสไลด์ ควรออกแบบเสาเข็มให้มีความยาวมากกว่าปกติเพื่อป้องกันการเสียหายของหน้าดินที่จะส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้าง

สำรวจระดับน้ำที่เคยท่วมถึง

เมื่อทราบระดับน้ำที่เคยท่วมถึงแล้ว ควรออกแบบหรือสร้างบ้านให้ยกสูงจากระดับน้ำนั้นพอควร โดยตัวบ้านต้องตั้งบนเสาเข็มหรือกำแพงกันดินที่แข็งแรง อาจเสริมโครงสร้างที่สแดงเพื่อรัดโครงสร้างบ้านให้แข็งแรงขึ้น

แยกกันสาดจากหลังคา

ไม่ควรให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของกันสาดเชื่อมต่อกับหลังคา เพราะหากเกิดความเสียหายกับกันสาดก็จะไม่ส่งผลไปถึงหลังคา นอกจากนี้ไม่ควรออกแบบชายคาที่ยื่นยาวเกินไป เพราะจะเพิ่มพื้นที่ในการปะทะของลมให้มากขึ้น และก็จะเกิดความเสียหายมากขึ้น.